เศรษฐศาสตร์กับ ?สินค้าในนามของความรัก?
หลายสิ่งในโลกนี้ถูกมูลค่าของเงินเข้าไปแทนที่มูลค่าของคุณธรรม เช่น การให้สินตอบแทนน้ำใจหรือการวิ่งเต้นซื้อความผิด แต่ก็มีบางสิ่งที่มูลค่าสองอย่างนี้ยังคงแยกกันทำงาน เวลาที่เรารักใครสักคนและอยากให้เขารักตอบ เราอาจจะชวนเขาไปกินข้าว ดูหนัง หรือรับส่ง เพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกที่มีต่อคนคนนั้น แต่ถ้าเราเอ่ยถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ความรู้สึกของอีกฝ่ายคงเปลี่ยนไปเป็นแน่ความรัก (ที่แท้จริง) จึงเป็นหนึ่งในไม่กี่พื้นที่ที่มูลค่าของเงินยังไม่อาจเข้าถึงได้โดยตรง
อันที่จริง ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์แทบจะไม่เคยอธิบายความรักโดยตรง ดูใกล้เคียงที่สุดคงเป็นเรื่องการแต่งงานที่มองเป็นดุลยภาพของตลาดระหว่างชายและหญิง ซึ่งมักให้ข้อสรุปกว้างๆ ถึงสาเหตุของการแต่งงานไว้สามประการ หนึ่งเพื่อแลกเปลี่ยนความถนัดที่แตกต่างกันของชายหญิง (Division of Labour) สองเพื่อสัมพันธ์ทางเพศ (Sexual Relationship) และสามเพื่อมีบุตร (Child Production)
พลังของทุนนิยมได้แบ่งสาเหตุของการแต่งงานออกเป็นส่วนๆ และสร้างตลาดสินค้าขึ้นมาตอบสนองความต้องการอย่างเฉพาะเจาะจง ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตเครื่องซักผ้าหรือเครื่องดูดฝุ่น และตลาดที่เปิดให้ผู้หญิงทำงานก็เข้ามาทดแทนความถนัดที่ต่างเพศเคยแลกเปลี่ยนกัน ตลาดโสเภณีเข้ามาทดแทนการมีสัมพันธ์ทางเพศ และการรับบุตรบุญธรรมหรือระบบประกันสังคมที่เลี้ยงดูยามชราก็เข้ามาทดแทนการมีบุตร
แต่ที่แน่ๆ ความรักกับการแต่งงานไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพียงแต่ที่ผ่านมามันถูกขายพ่วงกัน (Bundle) เสมอ จนดูเหมือนเป็นสินค้าเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นคำพูดที่ได้ยินบ่อยๆ ว่า “แต่งๆ กันไปก็รักกันเอง” หรือ “ความรักไม่สำคัญเท่าอยู่กันได้” ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคำสอนเหล่านี้ไม่ดี แต่มันแสดงให้เห็นว่าความรักกับการแต่งงานไม่เหมือนกัน
อย่างไรก็ดี กลไกตลาดที่เป็นหัวใจในการจัดสรรมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยเงินทองก็ย่อมไม่ปล่อยให้ความรักกลายเป็นทรัพยากรที่ไร้ค่าเช่นกัน
เนื่องจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยมให้ความสําคัญกับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจสูงสุดความรักจึงดูเหมือนว่าถูกทำให้เป็นสินค้า (Commodification) เช่นเดียวกับทุนวัฒนธรรมอื่น แต่ที่จริง นั่นเป็นแค่ปริมณฑลของความรักเท่านั้น ไม่ว่าเป็นธุรกิจแสดงความรัก เช่น รับจ้างบอกรัก ส่งดอกไม้ ห่อของขวัญหรือธุรกิจจัดหาคนที่เข้ากันได้มาเป็นคู่เดทเพราะความรักเป็นสิ่งที่ทุกคนแสวงหา ปริมณฑลของความรักจึงถูกทำให้เป็นสินค้า "ในนามของความรัก" เพื่อตอบสนองความต้องการหรือกระตุ้นเร้าให้เกิดความโหยหามากกว่าที่ควรจะเป็น (ทั้งๆ ที่มันเป็นแค่สินค้าในนามของความรัก)
ความรักกลายเป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้แสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจ เพราะแรงแสวงหาของมนุษย์ และเนื่องจากตัวมันเองถูกขายพ่วงตลอดมากับการแต่งงาน หรืออย่างน้อยก็พ่วงกับความสัมพันธ์ของชายหญิง จนก่อให้เกิดภาพลวงตา (Illusion) ที่ทำให้เข้าใจผิดว่ามันเป็นสิ่งเดียวกับความรัก
ทุนนิยมได้ต่อยอดจากธุรกิจการแต่งงานมานำเสนอสิ่งที่ทำกำไรได้มากกว่าอย่างสิ่งคล้ายกับความรัก ซึ่งก็คือการอยู่ด้วยกันได้ เช่น ธุรกิจหาคู่รักก็ทำหน้าที่เพียงจับคู่คนที่มีฐานะทางสังคม งานอดิเรก หรือระดับของหน้าที่การงานที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะทำให้ลูกค้าพอใจ อย่างน้อยก็ในระยะสั้น แม้จะเป็นไปได้มากที่จะอยู่กันได้แต่มันเป็นเพียงสิ่งที่คล้ายความรักแบบสำเร็จรูปที่ติดป้ายว่าความรัก
แต่หากไม่สามารถอยู่กันได้ ชายหญิงเหล่านี้ก็จะกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตซ้ำของสินค้าคล้ายความรักนี้อีกเรื่อยๆ รวมทั้งความสำเร็จจากการกระตุ้นเร้าว่าการไม่มีแฟนเป็นเรื่องที่น่าอับอาย และการเห็นคนรอบข้างหาได้ง่ายย่อมจูงใจให้ผู้บริโภคคนอื่นเข้าสู่การซื้อขายสินค้านี้ ผลก็คือส่วนเกินของวงจรนี้จะเป็นกำไรของผู้ผลิตต่อไปเรื่อยๆ จากการผลิตแบบสำเร็จรูป ทันใจ กระตุ้นเร้าและผลิตซ้ำ
ความหมายที่แท้จริงของความรักดังที่ท่อนหนึ่งของบทเพลงว่าไว้นั้นจึงอยู่นอกเหนือพื้นที่ของสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ความรักที่เต็มไปด้วยการให้โดยไม่หวังผลตอบแทน และเรียนรู้ที่จะอดทนรอคงหาได้ยากในโลกทุนนิยมที่เวลามีค่าเสียโอกาสแพงมากจนไม่สามารถรอคอยได้ และต้องการความเข้ากันได้ (ในนามของความรัก) แบบรวดเร็วทันใจ
นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากจึงไม่อาจเข้าใจความรักที่แท้ได้ ความรักที่ลงทุนแบบไม่หวังผลตอบแทน หรือความรักที่ต้องอดทน เรียนรู้และปรับตัวทั้งที่หาเอาใหม่จากตลาดภายนอกง่ายกว่า ก็เพราะความรักที่แท้นั้นดำรงอยู่ในตลาดคุณธรรม นอกพื้นที่ของตลาดเศรษฐกิจภายใต้ข้อสมมติของเหตุผล
ความรักที่เราพบเห็นมากมายบนโลกจึงเป็นแค่สินค้าใกล้เคียงที่ถูกติดฉลากไว้ในนามของความรักใน ตลาดเศรษฐกิจทั่วไปแต่ความรักที่แท้ไม่มีแบบสำเร็จรูป หากว่าแต่ละคนต้องผลิตขึ้นจากทุกย่างก้าวของเส้นทางแห่งการแสวงหา เรียนรู้ ปรับตัว เจ็บปวดและอดทน อันจะเติมเต็มความเป็นมนุษย์ที่แท้และแตกต่างอย่างละเมียดละไมของเราทุกคน
ที่มาhttp://www.bangkokbiznews.com